ความหมายของเครื่องสำอาง

ความหมายของเครื่องสำอาง



เครื่องสำอาง  หมายถึง   สิ่งเสริมแต่งหรือบํารุงใบหน้า ผิวพรรณ ผม ฯลฯ ให้ดูงาม เช่นแป้ง ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้ว, ราชาศัพท์ว่า เครื่องพระสําอาง;(กฎ) วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆด้วย.(ศูนย์สารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน,๒๕๔๙)

เครื่องสำอาง  หมายถึง ผลิตภัณฑ์สิ่งปรุงเพื่อใช้บนผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยใช้ทา ถู นวด พ่น หรือโรย มีจุดประสงค์เพื่อทำความสะอาด หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ (จันทิมา ทองคำดี,๒๕๔๘)

       ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เครื่องสำอาง หมายถึง สิ่งที่ช่วยเสริมแต่ง ช่วยทำความสะอาด และช่วยบำรุงผิวหนังและผิวหน้าของเราโดยใช้ทา ถู นวด พ่น หรือโรย เพื่อให้ผิวส่วนต่างๆของเรามีความสะอาดและสวยงาม

ประวัติของเครื่องสำอาง


ประวัติของเครื่องสำอาง


การใช้เครื่องสำอางจัดเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีการค้นพบว่า มีการใช้เครื่องสำอางมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ จีน อินเดีย และต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวกรีกเป็นชาติแรกที่มีการแยกการแพทย์และเครื่องสำอางออกจากกิจการทางศาสนา และยังถือว่าการใช้เครื่องสำอางเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติต่อร่างกายให้ถูกต้องสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรประจำวัน ศิลปะการใช้เครื่องสำอางและเครื่องหอมได้ถึงขีดสุดในระหว่าง ๒ ศตวรรษแรกแห่งอาณาจักรโรมัน แล้วค่อยๆ เสื่อมลง และเมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจลงในศตวรรษที่ ๕ ศิลปะการใช้เครื่องสำอางจึงแพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป  



          
นอกจากนี้ ชาวอาหรับก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการผลิตเครื่องสำอาง โดยได้มีการดัดแปลง แก้ไขส่วนผสมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพดีขึ้น เช่น การใช้กรรมวิธีการกลั่นเพื่อให้มีความบริสุทธิ์สูง การใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย เป็นต้น เมื่อศิลปะการใช้เครื่องสำอางได้แพร่หลายเข้าสู่ในประเทศฝรั่งเศสมากขึ้นเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสได้พยายามเสนอให้มีการแยกกิจการด้านเครื่องสำอางไว้เฉพาะ โดยให้แยกออกจากกิจการด้านการแพทย์และความพยายามก็ประสบความสำเร็จ ศิลปะการใช้เครื่องสำอางได้แยกออกมาจากกิจการด้านการแพทย์อย่างชัดเจน ต่อมา ได้มีการรวบรวมและแยกแยะความรู้ในด้านศิลปะการใช้เครื่องสำอางออกเป็นหลายๆ ประเภท เช่น เภสัชกร ช่างเสริมสวย ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่ได้มาจากเภสัชกรรมและเครื่องสำอางมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละอาชีพ การผลิตเครื่องสำอางในช่วงแรกๆ ยังมีกรรมวิธีการผลิตที่ไม่แน่นอน เครื่องสำอางบางประเภทมีขายในร้านขายยา การผลิตเป็นความรู้ส่วนบุคคลที่ได้รับสืบทอดมาหรือได้จากการศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูก มีผู้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตแทนวิธีเก่า และเมื่อผลิตเครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีเครื่องหมายการค้าชัดเจน และ มีกรรมวิธีในการผลิตที่แน่นอน ทำให้เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ทำให้มีการเพิ่มการผลิต และพยายามปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสำอางให้มีคุณภาพสูงขึ้น




       ต่อมาได้มีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เข้ามาปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเคมี ได้มีส่วนเข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้มีคุณภาพสูง ในการผลิตแต่ละครั้งต้องมีส่วนประกอบที่คงที่ ได้ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน มีหลักการเลือกใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานในการผลิต และมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ตลอดจนการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในปี ค.ศ. ๑๘๙๕ 

ประโยชน์ของเครื่องสำอาง

ประโยชน์ของเครื่องสำอาง



    ๑.  ช่วยตกแต่งให้ผิวดูเนียนและผุดผ่องขึ้น  เช่น แป้งแต่งหน้า ดินสอเขียนคิ้ว ครีมต่างๆ
    ๒.  ช่วยทำความสะอาดรักษาอนามัยและสุขภาพผิวของปากและฟัน เช่น สบู่และยาสีฟัน
    ๓.  ช่วยกลบเกลื่อนให้แลดูเป็นธรรมชาติ เช่น กลบฝ้าและไฝต่างๆ
    ๔.  ช่วยตกแต่งทรงผมให้อยู่ทรง และสวยงามตามที่ต้องการ
    ๕.  ช่วยทำให้สบายผิว แก้ความอับชื้น เช่น แป้งฝุ่นโรยตัว
              ๖.  ทำให้จิตใจสดชื่น รู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากกลิ่นหอมของเครื่องสำอาง

ประเภทของเครื่องสำอาง

ประเภทของเครื่องสำอาง



              สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท แต่โดยทั่วไปมักจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

                   ๑. เครื่องสำอางที่ไม่ได้ใช้แต่งสีของผิว เครื่องสำอางประเภทนี้ ใช้สำหรับการทำความสะอาดผิวหนัง หรือใช้เพื่อป้องกันผิวหนังไม่ให้เกิดอันตรายจาสิ่งแวดล้อม เครื่องสำอางประเภทนี้ได้แก่ สบู่ แชมพู ครีมล้างหน้า ครีมกันผิวแตก น้ำยาช่วยกระชับผิวให้ตึง เป็นต้น
                   ๒. เครื่องสำอางที่ใช้แต่งสีผิว  เครื่องสำอางประเภทนี้ ใช้สำหรับการแต่งสีของผิวให้มีสีสดสวยขึ้นจากผิวธรรมชาติที่เป็นอยู่ เช่น แป้งแต่งผิวหน้า ลิปสติก รู้ช เป็นต้น


                  เครื่องสำอางที่พบในท้องตลาดอาจจะแบ่งออกเป็น ๑๐ ประเภท ดังนี้

            ๑. เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง ได้แก่ ครีมทาผิว ผลิตภัณฑ์ขจัดสิว ผลิตภัณฑ์ขจัดสีผิวและขจัดฝ้า ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและขจัดกลิ่นตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลงกัดต่อย
            ๒. เครื่องสำอางสำหรับผมและขน ได้แก่ แชมพูและครีมนวดผม, ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผม, ผลิตภัณฑ์สำหรับโกนหนวดและกำจัดขน
            ๓. เครื่องสำอางสำหรับแต่งตาและคิ้ว
            ๔. เครื่องสำอางสำหรับแต่งใบหน้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พอกและลอกหน้า ,ผลิตภัณฑ์กลบเกลื่อน, ผลิตภัณฑ์รองพื้นแต่งหน้า, แป้งผัดหน้าและแป้งโรยตัว
            ๕. เครื่องสำอางสำหรับแต่งแก้ม
            ๖. เครื่องสำอางสำหรับแต่งปาก
            ๗. เครื่องสำอางสำหรับทำความสะอาดผิวปาก และฟัน ได้แก่ ครีมล้างหน้าและครีมล้างมือ, ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก
            ๘. เครื่องสำอางสำหรับเล็บ
            ๙. เครื่องสำอางสำหรับเด็ก
            ๑๐. ผลิตภัณฑ์น้ำหอม

โทษของเครื่องสำอาง

           โทษของเครื่องสำอาง



             เครื่องสำอางในปัจจุบันมีส่วนผสมอยู่หลายชนิด ก่อนซื้อเครื่องสำอางควรตรวจสอบสรรพคุณให้ดีก่อน ปัจจุบันวัยรุ่นไทยหลายๆ คนก็นิยมพกเครื่องสำอางติดกระเป๋าไว้อยู่เสมอเพื่อนำมาเสริมความงามให้กับใบหน้าและร่างกายของตนเอง และเพื่อจะทำให้ตนเองมีความมั่นใจเวลาพบปะกับผู้อื่นตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ขณะนี้เครื่องสำอางได้กลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นเป็นปัจจัยที่๕ ของวัยรุ่นไทย แต่เครื่องสำอางบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากเราใช้งานอย่างผิดวิธี ยกตัวอย่าง เช่น ครีมหน้าเด้งนอกจากจะทำให้หน้าใสแล้ว ยังทำให้ผิวพรรณของเราดูอ่อนกว่าวัยได้อีกด้วย แต่ถ้าเลือกซื้อครีมหน้าเด้งราคาถูกจากท้องตลาดก็จะส่งผลเสียอาจทำให้ใบหน้าของเราได้มันอาจก่อให้เกิดเป็นผื่นแดงหรือเกิดโรคทางผิวหนังได้  ฉะนั้นวัยรุ่นควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อจะช่วยสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับวัยรุ่น  ทั้งนี้วัยรุ่นควรจะต้องหมั่นศึกษารายละเอียดผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นก่อนซื้อเสมอ

อันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง


อันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง


       ถึงแม้ว่าเครื่องสำอางจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายค่อนข้างต่ำ แต่บางครั้งผู้บริโภคใช้เครื่องสำอางแล้ว อาจเกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณ ที่สัมผัสกับเครื่องสำอางโดยตรง อาจเกิดอาการได้ตั้งแต่ ระคายเคือง คัน แสบ ร้อน บวมแดง เป็นผื่น ผิวแห้งแตก ลอก ลมพิษ หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลพุพอง น้ำเหลือง แต่บางครั้งอาจพบความผิดปกติในบริเวณที่มิได้สัมผัสกับเครื่องสำอางโดยตรงก็ได้ เช่นคันบริเวณเปลือกตา เนื่องจากแพ้สีทาเล็บที่ไปสัมผัสเปลือกตาโดยบังเอิญ

วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอาการแพ้เครื่องสำอาง

วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอาการแพ้เครื่องสำอาง





    ๑. หยุดการใช้เครื่องสำอางนั้นทันที และพยายามเช็ดหรือชะล้างบริเวณที่ใช้เครื่องสำอางนั้นให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยปกติอาการแพ้ไม่รุนแรงมากนัก หลังจากนั้นสังเกตดูว่ามีอาการแพ้ลุกลามมากขึ้นอีกหรือไม่ โดยมากมักจะหายภายใน ๗-๑๐ วัน แต่หากมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
       
       ๒. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เมื่อทราบสาเหตุว่าแพ้เครื่องสำอางชนิดใดหรือสารที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางนั้น ควรงดใช้หรือหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

       ๓. รักษาอาการแพ้ให้หาย หากเป็นผื่นแดง หรือเป็นตุ่มบวม หรือเป็นตุ่มน้ำใสมีน้ำเหลืองซึมออกมา ก็ควรทำความสะอาดแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการอักเสบเป็นหนอง นอกจากนี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจดูว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้น จากการแพ้เครื่องสำอางหรือไม่ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เพื่อรักษาและหยุดปฏิกิริยาการแพ้ให้หายโดยเร็วที่สุด